ดีหมี ๑

Cleidion javanicum Blume

ชื่ออื่น ๆ
กาดาวกระจาย (ประจวบคีรีขันธ์); กาไล, กำไล (สุราษฎร์ธานี); คัดไล (ระนอง); จ๊ามะไฟ, มะดีหมี(เหนือ); เซยกะชู้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ดินหมี (ลำปาง)

ไม้พุ่มหรือไม้ต้น ใบเดี่ยว เรียงเวียนหรือกึ่งตรงข้าม รูปรีถึงรูปไข่กลับ มักมีต่อมสีเหลืองเรียงเป็นแถว ๒ ข้างของ เส้นกลางใบทั้งด้านบนและด้านล่าง มีหูใบรูปสามเหลี่ยม ดอกแยกเพศต่างต้น ออกตามซอกใบ ช่อดอกเพศผู้ แบบช่อกระจะ ออกเป็นช่อเดี่ยว สีเขียวถึงสีเขียวอมเหลือง ดอกเพศเมียออกเป็นดอกเดี่ยว สีเขียว ไม่มีกลีบดอก และจานฐานดอก ผลแบบผลแห้งแตก มี ๒ พู สีเหลืองถึงสีน้ำตาล เมล็ดมีลายคล้ายหินอ่อน


     ดีหมีชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. เปลือกบาง เรียบถึงหยาบ สีน้ำตาลถึงสีเทา
     ใบเดี่ยว เรียงเวียนหรือกึ่งตรงข้าม รูปรีถึงรูปไข่กลับ กว้าง ๒.๔-๑๐ ซม. ยาว ๘.๖-๒๗ ซม. ปลายเรียวแหลมทู่ มักมีติ่งหนาม โคนมนแคบหรือสอบแคบ มักเบี้ยวเล็กน้อย ขอบหยักซี่ฟัน ปลายซี่ฟันเป็นต่อม แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อน มักมีต่อมสีเหลือง เรียงเป็นแถว ๒ ข้างของเส้นกลางใบทั้งด้านบนและด้าน ล่าง ด้านล่างมักมีตุ่มใบมีขน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๙ เส้น แต่ละเส้นเชื่อมติดกันใกล้ขอบใบ นูนทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบยาว ๒-๘ ซม. โคนและปลาย ก้านป่อง ด้านบนเป็นร่อง ที่ปลายมักมีต่อมคล้ายซี่ฟัน ๒ ต่อม หูใบรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๐.๘-๑.๕ มม. ยาว ๑.๘-๒ มม. ร่วงง่าย

 


     ดอกแยกเพศต่างต้น ออกตามซอกใบ ช่อดอก เพศผู้แบบช่อกระจะ ออกเป็นช่อเดี่ยว ยาวได้ถึง ๒๔ ซม. ตั้งตรง มีกลุ่มดอกตามข้อ แกนกลางมีขนยาวประปราย ดอกเพศผู้เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๗ มม. สีเขียวถึงสีเขียว อมเหลือง ก้านดอกยาว ๑-๔ มม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ ซ้อน เหลื่อมกัน รูปไข่ กว้าง ๑.๘-๒.๘ มม. ยาว ๒-๓.๓ มม. ด้านนอกค่อนข้างเกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๓๕-๘๐ เกสร ก้านชู อับเรณูเล็ก สั้น สีเขียวอ่อน อับเรณูเบี้ยว หันออก ค่อน ข้างโค้งไปทางด้านหลัง มี ๔ พู อยู่เป็นคู่เหนือกันขึ้นไป สีเหลือง แกนอับเรณูปลายยาวตรง ไม่มีเกสรเพศเมีย เป็นหมัน ดอกเพศเมียออกเป็นดอกเดี่ยว ไม่มีกลีบดอก และจานฐานดอก เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๕-๖ มม. สีเขียว ก้านดอกยาว ๓-๙ ซม. ปลายหนา กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ซ้อนเหลื่อมกัน รูปไข่ กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาว ๑.๖- ๑.๘ มม. ขอบค่อนข้างเป็นชายครุย ติดแน่น รังไข่อยู่ เหนือวงกลีบ กว้าง ๓.๕-๕.๒ มม. ยาว ๕-๖ มม. มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียโคน เชื่อมติดกัน ยาว ๐.๓-๑.๕ ซม. สีเขียวอ่อน ปลายแยกเป็น ๒-๓ แขนง แต่ละแขนงมียอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ๑ คู่ ยาว ๐.๘-๑.๔ ซม. สีเขียวอ่อน ที่ปลายมีขนรูปดาว
     ผลแบบผลแห้งแตก มี ๒ พู กว้าง ๒.๒-๒.๘ ซม. เมื่อเจริญทั้ง ๒ พู หรือกว้าง ๑.๘-๒ ซม. เมื่อเจริญเพียงพู เดียว ยาว ๑.๔-๑.๖ ซม. สีเหลืองถึงสีน้ำตาล เมล็ดกว้าง ประมาณ ๑ ซม. ยาว ๑-๑.๓ ซม. มีลายคล้ายหินอ่อน ไม่มีจุกขั้ว
     ดีหมีชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย เกือบทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออก พบทั่วไปตามป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบที่มีไม้ไผ่ขึ้นแซม ตามที่ถูกแผ้วถาง ไฟเผา ตามริมน้ำ เขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเล ๓๐-๑,๑๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่ อินเดีย จีนตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะ บิสมาร์ก และโซโลมอน
     ประโยชน์ บางท้องถิ่นปลูกเพื่อใช้น้ำมันจาก เมล็ด ราก ใบ เปลือก และเนื้อไม้ใช้เป็นสมุนไพร.

 

 

 

 

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ดีหมี ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cleidion javanicum Blume
ชื่อสกุล
Cleidion
คำระบุชนิด
javanicum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume ช่วงเวลาคือ (1796-1862)
ชื่ออื่น ๆ
กาดาวกระจาย (ประจวบคีรีขันธ์); กาไล, กำไล (สุราษฎร์ธานี); คัดไล (ระนอง); จ๊ามะไฟ, มะดีหมี(เหนือ); เซยกะชู้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ดินหมี (ลำปาง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานพืช อักษร ด กองวิทยาศาสตร์อนุกรมวิธานพืช อักษร ด. pdf.